ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

สินค้าบาป...ออกไป!!! พ้นกรอบเอฟทีเอไทย-อียู

by twoseadj @December,14 2010 11.42 ( IP : 202...14 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 450x338 pixel , 56,885 bytes.

ในขณะที่การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ยังคงเดินหน้าไปเรื่อยๆ หนึ่งในเรื่องที่บรรดาเอ็นจีโอ และคนในแวดวงสุขภาพเป็นห่วงอย่างมาก คือ การที่กระทรวงพาณิชย์ ลากเอาเหล้า-บุหรี่ เข้าไปซุกอยู่ในเอฟทีเอไทย-อียู ด้วย เนื่องจากเกรงว่า การทำเช่นนี้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนไทยในอนาคต

โดยนายสัญญา สถิรบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอร่างกรอบการเจรจาการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ให้คณะอนุกรรมการติดตามการจัดทำความตกลงการค้าเสรี ภายใต้คณะกรรมการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณาก่อนขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ในวันพุธที่ 15 ธ.ค.เพื่อเสนอต่อรัฐสภาต่อไป
เรื่องนี้ นพ.วิชัย โชควิวัฒน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มองว่า ในเรื่องของกรอบการเจรจาการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป มีการเปิดเวทีรับฟังและให้แสดงความคิดเห็น ซึ่งเสนอชัดเจนมาตลอด ว่า ไม่ควรนำเรื่องของเหล้าและบุหรี่เข้าไปอยู่ในกรอบเจรจาด้วย เพราะมันไม่ใช่สินค้าทั่วไปแต่เป็นสินค้าบาป ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะพ่วงเข้าไปในกรอบเจรจา เพราะหากกรอบดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ก็จะทำให้คนไทยมีโอกาสเพิ่มนักดื่มมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของเหล้านั้น นอกจากจะเป็นสินค้าที่ทำลายสุขภาพของผู้เสพโดยตรงแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งอุบัติเหตุ ความรุนแรง ทะเลาะวิวาท ถ้าหากถามว่าศีลข้อไหนร้ายแรงที่สุด ตนก็บอกว่า ศีลข้อ 5 ที่ว่าร้ายแรง เพราะหากผิดศีลข้อนี้แล้วก็มีโอกาสผิดศีลข้ออื่นได้
“ผมเป็นห่วงเรื่องการรณรงค์และข้อกฎหมายต่างๆ ที่เราต่อสู้ทำกันมา หากเหล้า-บุหรี่ เข้าเอฟทีเอ บริษัทเหล้า-บุหรี่ข้ามชาติเหล่านั้น ก็จะเรียกร้องไม่หยุด เพราะสิ่งที่เราดำเนินการกันมาในส่วนของบุหรี่ก็ห้ามโฆษณาเด็ดขาดเคร่งครัดช่วยลดจำนวนการเสพได้มาก ส่วนเหล้าก็ได้มีกฎหมายที่ดีมากในเรื่องของการจำกัดการโฆษณาและกำหนดเขตห้ามดื่ม แต่เอฟทีเอจะเปิดช่องให้บริษัทเหล่านั้นกดดันให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพของคนไทยในอนาคต ดังนั้น ผมเห็นว่า ควรจะตัดเรื่องของเหล้าและบุหรี่ออกจากกรอบการเจรจา” นพ.วิชัย กล่าว
ด้าน นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) มองว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนทั้ง 4 ภูมิภาค ต่างเห็นตรงกันว่า ไม่ควรบรรจุสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาสูบเข้าไปอยู่ในกรอบการเจรจา ซึ่งสอดคล้องกับมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลเสียของกลไกการค้าเสรี ไม่ได้ลดกำแพงภาษีเท่านั้น แต่ยังจำกัดความสามารถของประเทศ ในการควบคุมสินค้าอันตรายอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ เพราะการประชุมวิชาการสุราระดับชาติเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา มีการถ่ายทอดประสบการณ์จากหลายประเทศ ซึ่งเห็นว่ากลไกการค้าเสรี มีผลทำให้ประเทศต่างๆ ต้องคลายความเข้มแข็งของการจัดการปัญหา โดยเฉพาะมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งการจำกัดการขาย การโฆษณา ในขณะเดียวกัน การค้าเสรีจะกดดันให้ประเทศต่างๆ เหลือเพียงเครื่องมือมาตรการที่ไม่ได้ผล ดังนั้น การจัดการแก้ระบบภาษีอย่างเดียวจึงไม่พอเพียงในการรับมือกับผลกระทบทั้งหมด
“จากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญปัญหาแอลกอฮอล์ จากองค์การอนามัยโลก ยืนยันว่า การเจรจาการค้าเสรีในระดับต่างๆ มีผลต่อการพัฒนานโยบาย การปกป้องสุขภาพของประเทศ และยังชี้ให้เห็นตัวอย่างการประกาศจุดยืนในการปกป้องสุขภาพและสังคมโดยการแยกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบออกจากการเจรจาว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ทั้งนี้ คงต้องวิงวอนผู้เกี่ยวข้อง ให้แยกแยะประเด็นสินค้าที่ก่อความเสียหายต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ” นพ.ทักษพล กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 ธันวาคม 2553

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง