เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2553 เวลา 13.00 น คณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุดรธานี ได้จัดเวทีสาธารณะภายใต้หัวข้อ
“ทิศทางการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพ จังหวัดอุดรธานี กรณีเหมืองแร่โปแตซ ” ณ ห้องประชุม คณะวิทยาการการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยมีผู้เข้าร่วมเวที ที่มาจากหลายภาคส่วน อาทิ ข้าราชการ ผู้แทนจากเอกชน นักศึกษา และประชาชนชาวอุดรธานี จำนวนกว่า 200 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่าเวทีดังกล่าวเป็นไปอย่างคึกคัก โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมากและหน้างานมีการจัดแสดงนิทรรศการกรณีเกลือและโปแตชภาคอีสานเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ผู้คนเริ่มทยอยเดินทางมาเข้าร่วมตั้งแต่เวลา 12.00 น เมื่อถึงเวลาตามกำหนดการห้องประชุมแน่นถนัด ที่นั่งในห้องประชุมไม่พอ ทำให้ฝ่ายจัดงานต้องจัดหาเก้าอี้มาเพิ่มเติม สำหรับเนื้อหาในเวทีก็เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นกันอย่างกว้างขวาง จนเวทีสิ้นสุดเมื่อเวลา 16.00 น. เศษ โดยคณะผู้จัดงานได้เชิญวิทยากรมาร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยน ซึ่งประกอบด้วย นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี , นายรังษี จุ้ยมณี กรรมการหอการค้าจังหวัดระยอง และนางวัชราพร วัฒนขำ นักวิจัยชุมชนจังหวัดเลย
ทั้งนี้ นายรังษี จุ้ยมณี กรรมการหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ได้มีการขุดเจาะพบก๊าซธรรมชาติ แล้วรัฐบาลขณะนั้นก็บอกว่าประเทศไทยจะโชติช่วงชัชวาล ต่อมาจึงเกิดโรงแยกก๊าซและนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นที่มาบตาพุด พร้อมบอกว่าชาวระยองจะสบาย เจริญ และได้ประโยชน์ ในช่วงนั้นก็เกิดการเข้ามาลงทุนของต่างชาติเป็นจำนวนมาก ตัวเลขรายได้มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP ก็เติบโตเป็นอย่างมาก แต่พอมา ณ วันนี้กลับพบว่าที่มาบตาพุดเกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพ และสังคม ตามมา จนยากแก่การแก้ไข
“อยากบอกว่ากรณีเหมืองแร่โปแตซเกี่ยวข้องกับมาบตาพุดร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ถ้าเหมืองแร่โปแตซที่อุดรฯ เกิดได้ ที่มาบตาพุดก็งานเข้าด้วย เพราะว่าโปแตซเข้าก็ต้องขนไปที่ท่าเรือมาบตาพุด และเหมือนเรากำลังเดินเข้าสู่วัฏจักรเดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งถ้าเหมืองเกิดขึ้นหางเกลือที่มันเป็นมลภาวะ ปัญหาทางสุขภาพความเจ็บป่วยก็จะตามมา ในชุมชนเกิดความแยกแตกประชาชนมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน ส่วนภาครัฐก็ทำได้แค่การเยียวยา เช่น หาน้ำประปา หรือเพิ่มเตียงรักษาคนไข้ตามโรงพยาบาลให้เท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เกิดขึ้นแล้วกับคนระยอง” นายรังสีกล่าว
นายรังษี ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่พวกเราควรทำก็คือ เราลองมามองดูว่าเราจะทำอะไรกับพื้นที่ของเราเป็นอันดับแรก ซึ่งเราควรเอาสุขภาพของเราเป็นที่ตั้ง ส่วนอาชีพการงาน หากเราบอกว่าไม่อยากทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเราก็ต้องปฏิเสธ โดยใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ
ขณะที่นายจักรพันธุ์ สาพุด ชาวอุดรธานี หนึ่งในผู้เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ได้แสดงความคิดเห็นว่า ตนได้ติดตามและรับรู้ข้อมูลเรื่องเหมืองแร่โปแตช มาโดยตลอด ก็ยอมรับว่ามันคงค้านยากเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล แต่ถึงอย่างไร ตนก็อยากให้มีการจัดเวทีอย่างนี้บ่อยขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารและจะนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันของคนอุดร นายจักรพันธ์กล่าว
ด้าน น.ส.สมพร เพ็งค่ำ จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า การจัดเวทีสมัชชาสุขภาพ เป้าหมายของการพัฒนาจะต้องดูเรื่องความอยู่ดีเป็นสุข ต้องดูเรื่องสุขภาวะด้วย หากเราเอาสุขภาพเป็นตัวตั้งว่าควรพัฒนาไปแบบไหน ไม่ได้มาคิดว่าการพัฒนาจะได้เท่าใด จะทำให้เราคุยกันแล้วเห็นภาพรวมกันมากขึ้น
“เรื่องโปแตชเราขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 43 - 44 จัด เวทีพูดคุยกันเยอะ มีการศึกษาข้อมูลกันมากมาย มีนักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม นักกฎหมาย นักพัฒนา มาช่วยกัน และในส่วนของเราก็กำลังสนับสนุนไปสู่การพูดคุยเพื่อนำไปสู่การประเมินยุทธศาสตร์ หรือที่เรียกว่า SEA เพื่อให้คนอุดรเกิดการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร กำหนดประเด็นนำไปสู่การศึกษา เอาข้อมูลเหล่านั้นมาประเมินว่าเราสมควรจะเดินไปในทิศทางใดในกรณีของเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี” น.ส.สมพรกล่าว
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)