เขียนโดย ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ ม.สงขลานครินทร์
ส่วนหนึ่งของเอกสารประกอบการบรรยายการประชุมวิชาการด้านคุ้มครองผู้บริโภค
กระแสโลก – โลกาภิวัตน์
กระแสโลกที่สำคัญคือกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีลักษณะสำคัญดังนี้
(1) กระแสการเงินโลก กระแสเทคโนโลยีและการตลาดถูกควบคุมและจัดการโดยบริษัทการค้าระดับมหึมาของโลก (Gigantic Global cooperation)
(2) เกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยมโดยคนทั่วไป มุ่งหวังจะแสวงหาการเสพย์ การพึงพอใจทางวัตถุต่าง ๆ เป็นเรื่องหลัก
(3) มีการแข่งขันกันอย่างกว้างขวางในระดับโลก ที่ผู้ใช้แรงงาน และท้องถิ่นต่างๆ พยายามให้ข้อเสนอที่ดีที่สุดแก่นักลงทุนข้ามชาติ
(4) บริษัทข้ามชาติสามารถที่จะดำเนินการบนพื้นฐานของกำไร โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดแก่ท้องถิ่น หรือแก่ชาติ
(5) ไม่มีความจงรักภักดีต่อชาติ หรือต่อชุมชน
มิติด้านเศรษฐศาสตร์
โดยปัญหา 4 ประการทางเศรษฐกิจคือ
(1) เศรษฐกิจแบบผลิตเพื่อบริโภค เปลี่ยนมาเป็นผลิตเพื่อขายและซื้อมาบริโภค เช่น ปลูกพืชหลายชนิดไว้กิน แต่เปลี่ยนมาปลูกมันสำปะหลัง หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว หรือพืชอื่นๆมากิน
(2) เมืองขยายตัว เกษตรกรไว้ที่ทำกิน และมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนทำให้สภาพแวดล้อมเลวลงปัญหาข้างต้นส่งผลให้ผู้ยากไร้มีชีวิตและสุขภาพเสื่อมถอยลง
(3) การทำธุรกิจการค้าที่มุ่งเน้นกำไรสถานเดียว คนทั่วไปจึงตราดตรำงานโดยไม่เห็นแก่สุขภาพ คนบางกลุ่มก็เป็นนักเก็งกำไร หวังรวยเร็ว โดยไม่ต้องทำงาน แต่อยากมีรายได้มาก
(4) การผลิตอาหารแบบเกษตรเคมี ระบบฟาร์มอุตสาหกรรม การผลิตอาหารสำเร็จรูปให้คุณค่าอาหารต่ำ (อาหารขยะ) พร้อมสารพิษตกค้างในอาหาร เช่น การเลี้ยงสัตว์ ใช้สารเคมีที่ใส่ให้เนื้อแดงผิดธรรมชาติ ใช้ยาปฏิชีวนะ ใช้สารกันบูด กันเชื้อรา และดัดแปลงรูปแบบอาหาร ฯลฯ
มิติด้านการเมือง – การปกครอง
ระบบ “อมาตยาธิปไตย” หรือระยะหลัง ๆ เป็นธุรกิจการเมือง (Money – politic) ซึ่งยังปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ในสภาพของระบบการปกครองเช่นนี้ เกิดภาวะการเกื้อกูลอุปถัมภ์ที่เรียกว่า “จตุภาคีอุปถัมภ์” กล่าวคือ ประชาชนไม่อาจมีสิทธิมีเสียงมากพอ อยู่ใต้การพึ่งพิงข้าราชการ ขณะเดียวกัน ข้าราชการพึ่งพิงนักการเมือง และนักการเมืองพึ่งพิงนักธุรกิจ ส่งผลให้อำนาจอธิปไตยที่ควรเป็นของปวงชนชาวไทยกลายเป็นอยู่ใต้วงการธุรกิจ ที่มีโอกาสนำธุรกิจประเภทที่เอาเปรียบผู้บริโภคได้ง่าย
มิติด้านสังคม
ปัญหาสังคม 4 ประการ คือ
(1) เกิดความสัมพันธ์แบบผู้อุปถัมภ์ – ผู้ได้รับการอุปถัมภ์ (Patron – client relation) และการจัดลำดับขั้นในสังคมมากขึ้น ซึ่งจนความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความไม่เสมอภาค ทำให้ผู้นำไม่ค่อยกระจายอำนาจ ไม่มีการอธิบายเหตุผลของคำสั่งจากเบื้องบนสู่เบื้องล่างได้ชัดเจน ประชาชนจึงรอพึ่งพานักการเมืองหรือผู้นำจนขาดจิตสำนึกสาธารณะในการมีส่วนร่วมทางสังคม การเมือง และการตรวจสอบ
(2) ระบบการเมืองและราชการ ระบบยุติธรรมและการรักษาความปลอดภัย ไม่เอื้อต่อการพัฒนาคนและสังคม การที่รวมศูนย์อำนาจในส่วนกลาง และมีลักษณะแยกส่วน ทำให้ไม่สามารถปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ได้ ทั้งไม่เอื้อต่อผู้ด้อยโอกาส และการมีส่วนร่วม มักมุ่งผลประโยชน์ระยะสั้น ตัดสินปัญหาด้วยความรู้สึก และความเชื่อมากกว่าข้อมูลหลักการและเหตุผล
(3) พฤติกรรมเด่นของคนไทยในระดับบุคคล (Individualism) ทำให้มุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตนระยะสั้น มีความรักสนุกแสดงออกโดยการบริโภควัตถุ และความสนุกมากขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มความสนุกได้มาก จึงขาดความยับยั้งในการจ่ายทรัพย์ เกิดความเครียดจากหนี้สิน ปัญหาทุจริต คอรัปชั่น เกิดโรค HIV/AIDS เกิดพฤติกรรมเสี่ยงโชค เล่นการพนันต่าง ๆ เก็งกำไรหุ้น ที่ดิน แชร์ลูกโซ่ ตลอดจนการเบี่ยงเบนหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ในสังคมไทยระดับต่าง ๆ
(4) ระบบการศึกษาที่เน้นความจำ จึงไม่เหมาะสมกับสภาวะที่โลกมีความซับซ้อน และเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารแพร่สะพัดทั้งที่เป็นจริงและเท็จ ที่มีประโยชน์และโทษ ซึ่งต้องมีการศึกษาที่จะคิดหลายประเภท ทั้งทางสร้างสรรค์ ทางแนวสอบสวนตามข้อสงสัย แนวคิดเชิงเหตุผล ตลอดจนยืดหยุ่นทางความคิด ที่จะปรับให้ทันกระแสโลก
(5) ครอบครัวแตกสลาย การที่พ่อ-แม่ ยอมไปหางานที่อื่น แต่ทิ้งบุตรไว้กับญาติ ผู้ใหญ่ ซึ่งสูงอายุ และค่อนข้างด้อยการศึกษา การให้เด็กบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสัดส่วน การดูแลเรื่องอนามัยให้กับเด็กอาจไม่ดีนัก อีกทั้งบางกรณีสามีทำงานแห่งหนึ่ง ภรรยาทำงานอีกแห่งหนึ่ง (เช่น ต่างประเทศ) ในที่สุดก็เกิดปัญหาการหย่าร้างตามมา สำหรับครอบครัวปรกติ เมื่อทั้งสามีภรรยาต่างมุ่งมั่นหารายได้ การให้ความอบอุ่นกับบุตรก็น้อยลง จนเกิดปัญหาของเด็กที่ติดยาเสพติด หรือการเที่ยวเตร่ และติดโรค HIV/ AIDS เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นได้ง่าย
(6) สังคมเปราะบางไม่เป็นปึกแผ่น ผู้สูงอายุได้รับความเคารพนับถือน้อยลง การร่วมมือในการพัฒนาเกิดขึ้นน้อยลง แนวคิดที่จะเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจและบริโภคนิยม เฉพาะตนมีมากขึ้น สถาบันการศึกษาในสังคมก็ทำหน้าที่ได้ไม่ดีนัก สถาบันทางศาสนาก็ทำหน้าที่ได้ไม่ดีนัก สถาบันการปกครองการเมืองก็เป็นธนกิจการเมืองที่ทุ่มเงินเพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง จนมีบางท่านใช้คำว่า “สังคมล่มสลาย” ซึ่งจำเป็นต้องกอบกู้ความเป็นปึกแผ่นกลับคืนมา
วัฒนธรรมบริโภคนิยม
ภาวะการณ์ที่มีการแข่งขันการค้าอย่างเสรีมากขึ้น มีสื่อสารต่างๆ ที่ไร้พรมแดนมากขึ้น และผู้กุมอำนาจสื่อส่วนใหญ่ก็เป็นชาวตะวันตก จึงมีโอกาสสูงที่จะนำเสนอวัฒนธรรมการบริโภคแบบตะวันตกซึมซาบผ่านสื่อต่างๆ เข้ามาจนเกิดความนิยมวัฒนธรรมที่พบเห็นจากสื่อมากกว่าวัฒนธรรมของประเทศที่มีอยู่ได้มาก
กระแสบริโภคนิยม และความรู้ที่ไม่ถูกต้องทำให้คนจำนวนไม่น้อยคิดว่า ถ้าหาเงินได้มากแล้วจะซื้อทุกสิ่งเพื่อสุขภาพร่างกาย และการรักษาโรคได้ตามที่ตนต้องการ มิใช่รักษาสุขภาพดีด้วยตนเอง
มิติด้านสิ่งแวดล้อม
การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ของประเทศไทยในช่วงเวลาประชากรเพิ่มขึ้นมาก มีการใช้เทคโนโลยีที่ทำลายป่าได้รวดเร็ว (มีเลื่อยยนต์) แล้วนำที่ดินมาทำการเกษตร จากนั้นมีการใช้สารเคมีเพื่อเพาะปลูกอย่างแพร่หลาย และมุ่งผลิตเพื่อจะขายให้ได้เงินเต็มที่ (แนวบริโภคนิยม)ได้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างมาก ที่สำคัญเช่น
(1) พื้นที่ป่าไม้ลดลงปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตร
(2) ทางด้านการใช้ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช เพื่อการเกษตร ก่อให้เกิดสารพิษ
(3) การจัดระบบการใช้พื้นที่ทางด้านอุตสาหกรรม การขนส่ง การค้าและที่อยู่อาศัยไม่ดี
(4) การบริโภคที่ก่อให้เกิดภาชนะบรรจุชนิดย่อยสลายได้ยากและในปริมาณมาก ก่อเกิดปัญหาขยะท่วมท้น ส่งผลต่อปัญหาน้ำ และกลิ่น ตลอดจนการแพร่เชื้อโรคต่าง ๆ ปัญหาการจัดการขยะนี้ได้ส่งผลให้พื้นที่ที่ต้องรองรับขยะประท้วง และหาที่ขนไปบำบัดไม่ได้ เกิดปัญหาในเมืองใหญ่ ๆ อยู่เสมอ
มิติด้านสื่อสารมวลชนไร้พรมแดน
มีการขยายตัวของการรับสื่อสารต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิลทีวี วารสาร-หนังสือพิมพ์ต่างๆ มีเผยแพร่ไปสู่ประชาชนมากมาย รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น อินเตอร์เน็ต ที่แพร่หลายแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือติดต่อซื้อขายทางนี้ (E – Commerce) โดยสื่อสารถึงกันในเวลาเพียงเสี้ยวนาที และไร้พรมแดน สภาพการณ์เช่นนี้ การรู้เท่าทันเพื่อ
ตัดสินใจจึงต้องมีมากพอ อีกทั้งฝ่ายที่จะใช้เทคนิคจูงใจจำหน่ายสินค้า หรือให้ข่าวสารก็จะใช้กลวิธีที่เหนือกว่าได้ โดยเฉพาะหากมีบางกลุ่มมีโอกาสครอบครองสื่อส่วนใหญ่ไว้ในกำมือ ก็จะมีโอกาสกระตุ้นและควบคุมพฤติกรรมการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย การแต่งตัว ใช้กระเป๋าถือ รองเท้า เครื่องสำอาง ประเภทกีฬาที่ควรนิยม หรือการมีความเชื่อเรื่องอาหารเสริมต่าง ๆ ในระดับสากล สื่อสารมวลชนส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยบริษัทแม่ขนาดยักษ์เพียง 10 บริษัท โดยมีบริษัทลูกและบริษัทเครือข่ายอีก 40 บริษัทที่ยังกระจายหุ้นไป มีบริษัทย่อยอีกนับร้อยกระจายไปทั่วโลก และทุกทวีป กลุ่มบริษัทดังกล่าวควบคุมกิจการตั้งแต่สำนักพิมพ์ สำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ เครือข่ายดาวเทียม เครือข่ายเคเบิลทีวี รายการทีวี รายการบันเทิง รายการกีฬา โรงถ่ายภาพยนตร์ ซึ่งนับว่ามีอิทธิพลต่อการจูงใจให้ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ได้มาก
อิทธิพลของสื่อทางตะวันตกดังกล่าวทำให้ความชื่นชมในสิ่งของต่างประเทศมีมาก ไม่เว้น ฟุตบอล การแต่งกาย หรือสินค้าต่างๆ และแม้ดาราทางโทรทัศน์ หรือนักร้อง นักแสดงต่าง ๆ ในเมืองไทย ขอให้มีสายเลือด (International) มักได้รับความนิยมได้โดยง่าย
Relate topics
- รณรงค์เลิกใช้โฟม
- รายการสงขลามหาชน ตัวอย่างอาหารของแม่ ตอน " บทบาทของพ่อ " อาหารของแม่ สร้างความอบอุ่นของครอบครัวกับมื้ออร่อยที่แม่บรรจงปรุงเพื่อลูก
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู( http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู(7 เม.ย 5…: http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- รายการอาหารของแม่ ตอน " อาหารคือภาคีและพื้นที่ " เปิดอร่อยด้วย ยำบัวบก สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาถิ่น อบต.ท่าข้าม ของป้ายุพา ผลชนะ