กระแสการค้าเสรีและ โลกาภิวัฒน์ (globalization)
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(Food and Agriculture Organization of the United Nations :FAO) และองค์การอนามัยโลก(World Health Organization:WHO) ได้จัดตั้งโครงการคุณภาพอาหารระหว่างประเทศขึ้น โดยแต่งตั้งคณะกรรมาธิการโคเด็กซ์อาลิเมนทาเรียส(Codex Alimantarius) ขึ้น เมื่อ ค.ศ. 1962 ทำหน้าที่คุ้มครองสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคและสร้างความเป็นธรรมทางการค้าอาหาร วิธีการคือ กำหนดมาตรฐาน แนวทาง และข้อแนะนำเกี่ยวกับอาหารจำนวนหนึ่งขึ้นมาให้ประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบรรณยอมรับมาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้น แต่การนำไปปฏิบัติหรือบังคับใช้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละประเทศโดยที่มาตรฐานของอาหารเหล่านั้นยังไม่ผูกพันโดยตรงกับองค์กรการค้าระหว่างประเทศในขณะนั้น
ลำดับเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงการค้าระหว่างประเทศ
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 เกิดการเจรจาการค้าแบบพหุภาคีรอบอุรุกวัยในเดือนเมษายน 1994 นำไปสู่การลงนามภายใต้ความตกลงของมาร์ราเกซ(MarrakessAgreement) ผลพวงสำคัญจากการเจรจานี้ คือประเทศสมาชิกจะลดมาตรการทางภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าเกษตรกรรมหลายประเภท เพื่อสนับสนุนการค้าเสรี ดังนั้นจึงได้มีการกำหนดข้อตกลงมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช(Sanitary and Phytosanitary Measure , SPS Agreement) ภายใต้กรอบWTOขึ้น เพื่อให้แต่ละประเทศบังคับใช้โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการประเมินความเสี่ยง(Risk assesment) ตามหลักวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้มาตรการถูกนำไปใช้ด้านความปลอดภัยของอาหารในการค้าระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงเกี่ยวกับอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า(Technical Barrier to Trade Agreement , TBT ) ครอบคลุมข้อกำหนดด้านเทคนิคและมาตรฐานต่างๆสำหรับสินค้าและข้อกำหนดอื่น ๆที่ไม่ได้ครอบคลุมในข้อตกลง SPS ดังนั้นข้อตกลง SPS และ TBT จึงเอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน
วัตถุประสงค์ของข้อตกลง SPS
- เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์ สัตว์ และพืชของประเทศสมาชิก WTO โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อการค้า
- เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เกิดความสอดคล้องของมาตรฐานอาหารที่ใช้ทั่วโลก เพื่อจะให้เป็นไปตามข้อกำหนดของSPS ต้องสร้างความเข้มแข็งของระบบควบคุมอาหารของแต่ละประเทศ โดยรวมเอาข้อกำหนดเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านวิชาการและเงินทุนจากประเทศอื่นหรือจากองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยอาจอาศัยการลงทุนด้านบุคลากรและงบประมาณแก่ประเทศกำลังพัฒนา
นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประเทศที่พัฒนาแล้วสร้างระบบควบคุมอาหารที่ทันสมัยหรือยกระดับแผนความปลอดภัยของเดิมให้ดีขึ้น ยืดเวลาให้ประเทศที่กำลังพัฒนาที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงSPS ออกไปอีก 2 ปีนับตั้งแต่ข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ รวมทั้งยอมให้ประเทศเหล่านี้ร้องขอการยกเว้นเฉพาะบางอย่างเนื่องจากขาดแคลนเงิน การค้า และการพัฒนาความเหมาะสมและความท้าทาย
- สิทธิและพันธกรณีข้อตกลง SPS กำหนดสิทธิและพันธกรณีของประเทศสมาชิกที่ชัดเจน
- การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การผูกพันให้ประเทศสมาชิกแจ้งมาตรการสุขอนามัยแต่ละมาตรการของตนให้ประเทศอื่นทราบ และเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นออกความเห็นเป็นแนวคิดที่สำคัญที่สุดของข้อตกลง SPS ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใส ประเทศสมาชิก WTO แต่ละประเทศต้องจัดตั้งจุดสอบถาม(Enquirery point) ประเทศที่สนใจจะเข้าร่วมขึ้นรวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกฎระเบียบเกี่ยวกับสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชต้องจัดพิมพ์โดยเร็วและแจ้งให้ประเทศสมาชิกอื่นทราบ เพื่อให้ประเทศสมาชิกที่สนใจได้ทำความเข้าใจและคุ้นเคย
- ความสอดคล้อง หากประเทศต่าง ๆ ปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกันโดยยึดเอามาตรฐานระหว่างประเทศเป็นพื้นฐานสำหรับมาตรการสุขอนามัยของตน จะทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้รับความคุ้มครองจากความเสี่ยงเนื่องจากโรคที่เกิดจากอาหารในด้านความปลอดภัยของอาหารข้อตกลง SPS ได้ยึดเอามาตรฐานแนวทางและข้อแนะนำที่กำหนดโดยโคเด็กซ์ เป็นเกณฑ์อ้างอิงซึ่งความสอดคล้องกับมาตรฐานนี้จะช่วยลดภาระที่ประเทศหนึ่งต้องแสดงเหตุผลอธิบายต่อประเทศอื่น ว่าเหตุใดจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่ง
- การประเมินความเสี่ยง การที่ประเทศสมาชิกจะนำมาตรการสุขภาพอนามัยมาบังคับใช้ต้องพิจารณาโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการประเมินความเสี่ยง โดยต้องมั่นใจได้ว่ามาตรการนั้นต้องไม่เป็นการเลือกปฏิบัติและปิดกั้นการค้าเกินความจำเป็นมีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับซึ่งเทคนิคการประเมินความเสี่ยงที่ใช้ในองค์กรระหว่างประเทศได้จัดพิมพ์และเผยแพร่เป็นเอกสารอ้างอิงทั่วไปไม่ให้เข้มงวดเกินความจำเป็นที่จะบรรลุตามวัตถุประสงค์
- ความเท่าเทียมกัน การใช้มาตรการใดต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสุขภาพที่บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างจริงจังและมีความเท่าเทียมกัน ประเทศสมาชิกต้องยอมรับมาตรการของประเทศอื่นแม้จะแตกต่างจากของตนจึงจำเป็นที่ประเทศผู้ส่งออกต้องแสดงให้เห็นถึงมาตรการของตนที่เพียงพอต่อระดับความต้องการของประเทศผู้นำเข้า มีข้อสังเกตว่าขณะที่มีความยอมรับความเท่าเทียมกันข้อตกลง SPS กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องสร้างความมั่นใจว่ามาตรการของตนไม่ทำให้เกิดการขัดขวางทางการค้าเกินกว่าความเหมาะสมโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านเทคนิคและเศรษฐกิจด้วย สรุป ถ้าประเทศคู่ค้ายึดมั่นตามข้อตกลงของมาตรการSPS และ TBT โดยเคร่งครัดและไม่นำมาใช้ในทางที่ก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช้มาตรการทางภาษีศุลกากรจะทำให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมทั้งควรส่งเสริมและผลักดันให้มีการประเมินความเสี่ยงและยอมรับความเท่าเทียมกันอนาคตของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลกจะสามารถทำรายได้จากการส่งออกอาหารเพิ่มมากขึ้น
ด้านเศรษฐกิจ
จากสภาวะเศรษฐกิจซบเซาเมื่อปี 2540 เนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศไทย เราทุกคนในประเทศต่างตระหนักดีว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในสภาพเสียหายตกต่ำแม้ไม่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เราก็พบสภาพการณ์นั้นได้ด้วยตัวเราเองไม่ว่าในแง่ของสินค้าที่แพงขึ้น คนว่างงานจำนวนมากทำให้คุณภาพชีวิตลดต่ำลง ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องตื่นจากฝันมาอยู่กับความเป็นจริง และรู้จักความพอดีในการดำเนินชีวิตดังกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งแนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
รัฐบาลได้น้อมนำกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากำหนดเป็นนโยบายโดยการส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ เช่น โครงการเศรษฐกิจพอเพียงของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งรับแรงสนับสนุนจากหลายหน่วยงานในการส่งเสริมอาชีพจนเกิดการรวมตัวกันในลักษณะกลุ่ม ชมรม สหกรณ์ ผลิตสินค้าจากวัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น อาหารพื้นบ้าน ยาสมุนไพร แชมพูสระผมผสมสมุนไพร ฯลฯ นับเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีหน้าที่ในการควบคุมให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย แต่ในปัจจุบัน ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ถูกต้องตามกฎหมายอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจากผู้ผลิตไม่ทราบถึงกระบวนการที่ถูกต้อง จนมีโครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพในขุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้องค์กรชุมชน ผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอางให้มีคุณภาพและปลอดภัยแก่ผู้บริโภคจากตัวอย่างข้างต้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยสร้างความเข้าใจแก่ผู้ผลิตถึงกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตั้งแต่ในเบื้องต้นก่อนที่ผลิตภัณฑ์ได้ออกสู่ท้องตลาดเป็นการสร้างจิตสำนึกแก่ชุมชนในการผลิตและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องอันจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนางานคุ้มครองด้านสุขภาพต่อไปในอนาคต
ด้านการเมืองการปกครอง
การปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินงานตามระบบบริหารแนวใหม่เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสาธารณประโยชน์ เช่น งานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข (คบส.) ต้องมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองโดยกาออกกฎหมาย การควบคุม กำกับ ดูแล pre-marketing และpost-marketing ต้องเน้นการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสำคัญ กล่าวคือสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคให้มีอำนาจในการควบคุมกำกับ ดูแล ภาครัฐและผู้ประกอบการ แต่จะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม โดยจะมุ่งไปในนโยบายเชิงปฏิบัติการ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่8มียุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญ 2 ประการ คือ
ประการแรก - เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐกับประชาชนให้มากขึ้น
ประการที่สอง - ปรับระบบการบริหารจัดการเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล โดยปรับกลไกการบริหารจัดการ งบประมาณ และบุคลากรให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัวก่อนจะนำไปสู่การเสนอแนวนโยบายเชิงปฏิบัตินั้นจะต้องพิจารณาองค์ประกอบอีก 2 ส่วนคือ สถานการณ์และแนวโน้มด้านการคุ้มครองคุ้มครองผู้บริโภค กับวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองผู้บริโภค
สถานการณ์และแนวโน้มการคุ้มครองผู้บริโภค พิจารณาได้เป็น 3 ส่วนสำคัญคือ
ส่วนที่ 1 : ด้านผู้บริโภค
ผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบทขาดโอกาสเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ยังมีความรู้ไม่เพียงพอในการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เหมาะสมและที่สำคัญคือ ผู้บริโภคและชุมชนไม่สามารถรวมตัวเพื่อดำเนินการคุ้มครองตนเองได้ ผู้บริโภคมีการบริโภคยาฟุ่มเฟือยไม่ถูกต้อง และไม่เหมาะสม
ส่วนที่ 2 : ด้านผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์
ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งยังขาดจริยธรรมโดยประกอบการที่ผิดกฎหมาย ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพยังไม่กระจายทั่วถึงและครอบคลุมตามความจำเป็นของประชาชน
ส่วนที่ 3 : ด้านรัฐ
กฎหมายมีข้อบกพร่องและล้าสมัยตลอดจนขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง กอรปกับกลไกของรัฐในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพไม่เท่าที่ควร ทำให้การพัฒนางานการแก้ไขปัญหาด้านการบริโภคให้แก่ประชาชนไม่บรรลุผล และทันสถานการณ์เท่าที่ควร
หากนำสถานการณ์ปัญหาและแนวโน้มการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคมาพิจารณาสามารถมองเห็นกรอบนโยบายในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขเป็น 3 แนวทางใหญ่ คือ
- สร้างความเข้มแข็งของการกำกับดูแลของภาครัฐ พร้อมทั้งปรับประสิทธิภาพการบริหารจัดการของภาครัฐเพื่อส่งเสริมให้ประชากรได้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่มีคุณภาพดี ปลอดภัย
- พัฒนาผู้บริโภคให้ฉลาดในการบริโภค ต้องพัฒนาศักยภาพให้ชุมชนสามารถคุ้มครองตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคเอกชนในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข โดยรัฐควรปรับลดภารกิจและบทบาทให้มีการดำเนินการเท่าที่จำเป็น และเป็นผู้วางเกณฑ์และกำกับแทนการทำเองทุกเรื่อง
ตัวอย่างการดำเนินงาน
ด้านอาหาร กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหารประเภทต่างๆ (Good Manufacturing Practice : GMP) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบธุรกิจในการพัฒนาสถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์อาหารแต่ละประเภท นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น(Japan International Cooperation Agency : JICA )เรื่อง Strengthening of Food Sanitation Activitiesโดย JICA ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน เช่น โครงการจัดสร้างโรงงานต้นแบบผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด โครงการอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ เป็นต้น
ด้านยา มีโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียน(Technical Cooperation among developing countries on pharmaceuticals : TCDC on pharm.) ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการร่วมมือประสานงานกับประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนในการพัฒนากิจกรรมทางด้านยา
ด้านสังคม
ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มักจะทำหน้าที่และตัดสินใจแทนผู้บริโภคในทุกเรื่องโดยไม่มีตัวแทนผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วม ประกอบกับพลังผู้บริโภคยังไม่มีแรงจูงใจที่ดีพอในการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ทั้งนี้หากเกิดรวมตัวที่เข้มแข้งจะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างหนึ่ง ที่ส่งผลสะเทือนถึงบริษัทผู้ผลิตหรือผู้ค้าได้ การรับรู้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในเบื้องต้นคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดการกลุ่มกันอาจเริ่มต้นจากเจอปัญหาเหมือนกันแล้วพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนระดมว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไรใครคือผู้เกี่ยวข้อง และความต้องการของกลุ่มคืออะไรและทำเป็นข้อเรียกร้องในการต่อรองกับหน่วยงานหรือใช้วิธีต่าง ๆ ตัวอย่างการรวมกลุ่มกันได้แก่
- กรณี กลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และนักกิจกรรมด้านสังคม จัดให้มีการรณรงค์ประท้วงร้านกาแฟสตาร์บัคส์ทั่ว100 เมืองในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2544 โดยเปิดให้อาสาสมัครช่วยแจกเผยแพร่เอกสารหน้าร้านสตาร์บัคส์ เรียกร้องให้ร้านกาแฟสตาร์บัคส์เลิกสนับสนุนการปลูกกาแฟโดยใช้ฮอร์โมนในการเร่งผลิตกลุ่ม recombinant bovine growth hormone และส่วนประกอบอื่นๆ ที่มาจากการใช้เทคนิคการตัดต่อพันธุกรรม
- กรณี บริษัทเชลล์ปิโตรเลียมในไนจีเรีย ถูกบอยคอดไปทั่วโลก เพราะเข้าไปขุดเจาะน้ำมันในไนจิเรียมีการวางท่อผ่านบ้านเรือนและที่ทำกินของชาวบ้าน ทำให้น้ำมันปนเปื้อนในแม่น้ำลำคลอง
- กรณี บอยคอต 8 บริษัทเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ เช่น โดว์ ดูปองค์ มอนซานโต ไอซีไอ โนวาติส บายเออร์ เฮิร์กซ์ เพราะบริษัทเหล่านี้ทำลายสภาพอากาศ น้ำ ดิน ต้นไม้ ที่สำคัญคือบั่นทอนสุขภาพของมนุษย์
- กรณีร้านสินค้าทางเลือกต่าง ๆซึ่งได้สนับสนุนเกษตรกรที่มีการลด ละ เลิกการใช้สารเคมี ให้มาจำหน่ายผลผลิตที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ เช่น ร้านอิ่มบุญในเชียงใหม่ ร้านคืนดินในขอนแก่น ร้านเพื่อนธรรมชาติในกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
- กรณีการขยายหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมคนไทยทุกคนเดิมเป็นนโยบายของฝ่ายการเมือง แต่ในการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ต้องมีองค์ความรู้ ต้องเชื่อมโยงกับการเมืองและสุดท้ายต้องมีการเคลื่อนไหวทางสังคมจึงจะสำเร็จ ดังนั้นนโยบายประกันสุขภาพหากขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและขาดความรู้จริง ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เกิดอาจจะพิกลพิการไม่ตรงกับความต้องการของคนไทยก็ได้
ด้านสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงกับสารพิษหรือสารเคมีเพิ่มมากขึ้น จากสภาวะแวดล้อมที่เสื่อมโทรมจากการกระทำของมนุษย์ สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงในการใช้สารเคมีโดยเฉพาะทางด้านการเกษตรมีแนวโน้มการใช้มากขึ้นและมีการนำเข้ามากขึ้นในแต่ละปี ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการนำเขาสารเคมีสูงมากเพราะปราศจากภาษีนำเข้า ปราศจากการควบคุมจัดจำหน่ายปราศจากมาตรการดูแลความปลอดภัยหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้ ผู้บริโภคอาหารและสิ่งแวดล้อม ปัญหาของสารเคมีได้กลายเป็นปัญหาคล้ายๆ กับการระบาดของโรคติดเชื้อต่าง ๆมีรายงานจากต่างประเทศอยู่เสมอว่า สารเคมีเป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ การได้รับสารพิษสะสมในร่างกายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เกิดโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านมที่เกิดกับสตรีที่ทำสวนสตอเบอรีในอเมริกา มะเร็งที่ผิวหนัง มะเร็งหลอดลมหรือในเม็ดเลือด ฯลฯ
ในปัจจุบันหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ได้ยกเลิกการนำเข้าสารเคมีหลายชนิด เนื่องจากพบว่าเป็นอันตรายร้ายแรงและเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง และความพิการต่าง ๆรวมทั้งกระแสการบริโภคที่คำนึงถึงความปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมได้แพร่ขยายกว้างออกไป มีผู้บริโภคไม่ใช่น้อยที่รู้และเข้าใจถึงอันตรายของสารเคมีบ้างก็เป็นผู้มีประสบการณ์จากผลกระทบของการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี ผู้บริโภคบางท่านอยู่ในสภาวะที่เจ็บป่วยจากสารเคมี และพยายามแสวงหาหนทางหรือทางเลือกในการบริโภคเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น เกษตรกรผู้ผลิตส่วนหนึ่งได้ปฏิเสธการส่งเสริมของนักส่งเสริมที่จะต้องขึ้นอยู่กับสารเคมีเพียงอย่างเดียว การส่งเสริมให้มีแต่การใช้ปุ๋ยสารพิษกลายเป็นแนวคิดที่คับแคบ ทำลายสิ่งแวดล้อม หาใช่การส่งเสริมเพื่อให้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นไม่ พวกเขาเหล่านั้นจึงหันมาผลิตแบบพึ่งพาตนเองใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีอยู่เข้าต่อสู้กับแนวคิดกระแสหลักจนสามารถพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป องค์กรผู้บริโภคอย่างชมรมผู้บริโภคอาหารปลอดสารพิษซึ่งมีสมาชิกอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 500คนได้รวมตัวกันมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนให้เกิดการบริโภคอาหารปลอดสารพิษ การเผยแพร่แนวคิด การขยายแนวร่วมและสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศของเราจะไม่กลายเป็นหลุมขยะของสารเคมีหรือเป็นที่รวมของสารเคมีทั้งมวล หากคนในประเทศชาติโดยเฉพาะผู้บริโภคเกิดจิตสำนึกต่อต้านสารเคมีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ซื้ออาหารที่ใส่สารพิษหรือที่เราไม่แน่ใจว่าปลอดภัยหันมาสนับสนุนผลิตผลของเกษตรกรที่เชื่อถือได้ว่า ไม่มีการใช้สารเคมีและร่วมกันรณรงค์ให้รัฐ ลด ละ เลิกสารเคมีให้จงได้ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่มีเสียงกระซิบดัง ๆ จากผู้บริโภคดังกล่าวแล้ว อนาคตลูกหลานเราก็น่าเป็นห่วงมิใช่น้อยเลย
ด้านสื่อสารมวลชน และสื่อไร้พรมแดน
สื่อมวลชนมีบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการเสนอผลิตภัณฑ์ไปยังผู้บริโภค ในยุคเศรษฐกิจปัจจุบันสื่อมวลชนไม่มีโอกาสมากนักในการนำเสนอการโฆษณาเนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของสื่อมวลชนมาจากการลงโฆษณาของผู้ผลิต แต่ในฐานะที่สื่อมวลชนเป็นผู้บริโภคด้วยเช่นกันย่อมมีบทบาทในการร่วมกันร่างแนวทาง ในการพิจารณาโฆษณาสำหรับสื่อมวลชนขึ้น เพื่อเป็นกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะในปัจจุบันมีการแข่งขันการทำโฆษณาโดยขาดจิตสำนึกก่อให้เกิดมีการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย เช่น อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และบิดเบือนข้อมูลจากความเป็นจริง นอกจากนั้นยังใช้บุคคลสำคัญหรืออ้างอิงสถาบันทางวิชาการรับรอง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดและหลงเชื่อตามคำโฆษณา เกิดการเลือกซื้อสินค้าที่ไม่ก่อประโยชน์อย่างแท้จริงและเกินความจำเป็นอาจทำให้เกิดความเสียหายและอันตรายได้
การโฆษณาดังกล่าวควรได้รับการแก้ไขเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค สาเหตุใหญ่ 2 ประการ คือ การขาดจริยธรรม และการขาดความรู้ ทั้งในฝ่ายเจ้าของผลิตภัณฑ์ ผู้โฆษณา และเจ้าของสื่อ ที่มุ่งแต่ประโยชน์ใส่ตน อีกทั้งผู้อนุญาตหรือผู้รับผิดชอบมีกำลังไม่เพียงพอและงานล้นมือตรวจสอบไม่ทั่วถึงมีกฎหมายที่ไม่เหมาะสม รัดกุม และมีบทลงโทษที่ไม่รุนแรงพอ ให้ผู้ทำผิดกลัวเกรงได้ ส่วนผู้บริโภคขาดความรู้และสติก่อนการเลือกซื้อสินค้าทำให้ต้องเสียผลประโยชน์และสิทธิผู้บริโภคที่พึงมีไป
แนวทางแก้ไข ควรมีการปรับปรุงบทบาทหน้าที่ของรัฐและให้ความรู้ผู้บริโภค สื่อมวลชนว่าสื่อก็เป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง ควรร่วมกันร่างแนวทางในการพิจารณาโฆษณาสำหรับสื่อมวลชน เพื่อเป็นกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภค
จากการเสวนา เรื่อง สื่อโฆษณาที่ผู้บริโภคพึงประสงค์ วันที่ 3 ธันวาคม 2540 ณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พิจารณาแนวทางในการพิจารณาโฆษณาสำหรับผู้บริโภคขึ้น ดังนี้
- ตรวจสอบสื่อโฆษณาว่ามีข้อมูลครบถ้วนหรือไม่
- ข้อความในโฆษณาต้องไม่โอ้อวดเกินจริง
- หากไม่ทราบข้อมูลผลิตภัณฑ์ควรตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่า 1 คน
- การโฆษณาไม่ควรอ้างสถาบันมารับรองคุณภาพ
- ผู้บริโภคต้องไม่ละเลยที่จะหาข้อมูลหากเกิดความสงสัย
- ผู้บริโภคต้องมีความคิดที่นำสมัย เช่น มีความเท่าทันต่อสื่อบันเทิงและโฆษณาที่สร้างกระแสบริโภคนิยม
- สร้างสติเพื่อกินอยู่อย่างพอดีมีหลักในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็น ปลอดภัยใช้ได้ผล มีคุณภาพ ราคาสมเหตุสมผลและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สื่อไร้พรมแดนหรืออินเตอร์เนท จะเป็นผู้ดีหรือผู้ร้ายก็ได้ขึ้นอยู่กับผู้ใช้มันนั่นเอง อินเตอร์เนทสามารถเป็นเครื่องมือในการรณรงค์ต่อต้านสิ่งไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศหรือในองค์กรต่างๆประมาณกันว่าทั่วโลกมีผู้ใช้อินเตอร์เนทแพร่ไม่ต่ำกว่า 30-40 ล้านคน สำหรับเมืองไทยคาดว่าจะอยู่ในราว 200,000 คน ( ปี 2540 ) ดังนั้น หากมีการรณรงค์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านทางอินเตอร์เนทจะมีผลต่อกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหญ่ และขนาดของกลุ่มเป้าหมายที่ใช้อินเตอร์เนทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในทุกปี การใช้อินเตอร์เนทจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ
ด้านวัฒนธรรมบริโภคนิยม
การบริโภคในกระแสบริโภคนิยมส่วนใหญ่ไม่ได้บริโภคสิ่งที่จำเป็น สินค้าเพื่อการดำรงชีวิต แต่จะบริโภคความหมาย ตัวสัญญา ความหมายของวัตถุ โดยการบริโภคความหมายไม่มีวันอิ่ม ดังนั้นจำเป็นต้องช่วยคิดเพิ่มพลังผู้บริโภคในกระแสบริโภคนี้ให้ได้ ความตื่นตัวของสาธารณชนเป็นปัจจัยหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภคที่สำคัญ ตราบใดที่ประชาชนมีทัศนะในการบริโภคสินค้าเสมือนการซื้อลอตเตอรี พลังผู้บริโภคไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความตื่นตัวดังกล่าว
การศึกษาที่สำคัญมิใช่การศึกษาในระบบโรงเรียนเท่านั้น แต่หมายถึงการศึกษานอกระบบ เช่น ละครโทรทัศน์ โดยสร้างรูปแบบและเนื้อหาให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมาสู่ความรู้เท่าทันในการเลือกบริโภคอย่างฉลาด ปัจจุบัน คนระดับผู้นำประเทศ มีทัศนะว่าลัทธิบริโภคนิยมส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง สะท้อนให้เห็นว่า การส่งเสริมให้คนมุ่งไปในทิศทางบริโภคนิยมนี้ มีนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินของรัฐหนุนหลังอยู่โดยปริยายทางออกซึ่งได้รับความสนใจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือการบริโภคอย่างฉลาด นั่นคือ บริโภคอย่างรู้เท่าทันและมีจิตสำนึกสามารถแยกแยะว่าสินค้าใดที่มีคุณภาพและสินค้าใดที่เป็นโทษ ไม่หลงเชื่อตามคำโฆษณาง่าย ๆ รู้ว่าควรซื้อและไม่ควรซื้ออะไรบ้าง ที่สำคัญก็คือ จะต้องตระหนักในสิทธิของตนในฐานะเป็นผู้บริโภคไม่ควรนิ่งเฉย หากพบว่าตนถูกผู้ผลิตเอาเปรียบหรือได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ อีกแนวคิดหนึ่ง คือ การบริโภคอย่างเรียบง่าย แนวคิดนี้ทวนกระแสบริโภคนิยมโดยตรง เพราะเสนอให้ลดการบริโภคลง หันมาใช้ชีวิตที่สมถะเรียบง่ายขึ้น ต่อมามีขอบเขตการศึกษากว้างขวางขึ้น แตกแขนงมาเป็นการบริโภคสีเขียว แนวคิดนี้มองว่า การบริโภคโดยสนใจแต่เฉพาะผลประโยชน์ของตนเท่านั้นยังไม่พอ เราควรบริโภคอย่างมีจิตสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพด้วย ดังนั้นแทนที่จะซื้อโดยพิจารณาเฉพาะราคารูปลักษณ์และอัตถประโยชน์ของสินค้าเท่านั้นควรคำนึงต่อไปด้วยว่า สินค้านั้น ๆ มีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างไร ใกล้ ๆกับการบริโภคสีเขียว ก็คือ การบริโภคอย่างมีสำนึกทางสังคม คือ นอกจากจะไม่นิยมผลิตภัณฑ์ที่ทำลายธรรมชาติแล้วยังไม่อุดหนุนสินค้าหรือบริการของผู้ผลิตที่ไร้จริยธรรม เช่น ผู้ผลิตที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเผด็จการด้วยเหตุนี้ หากต้องการให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นนอกจากการเป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาด สำนึกถึงพลังของตนเองหรือคำนึงถึงธรรมชาติแวดล้อมแล้ว เรายังควรไปพ้นจากการเป็นผู้บริโภคด้วยแทนที่จะคิดแต่ซื้อก็ลองทำเองบ้าง ช่วยกันทำบ้างหรือแลกเปลี่ยนกันบ้าง จะทำเช่นนี้ได้ดีมีอย่างน้อย 2 อย่างที่ควรทำไปด้วยกัน
ประการแรกคือ การฟื้นความสามารถในการพึ่งตนเอง หมายถึง การเอาคุณภาพชีวิตและความสุขของเรากลับมาอยู่ในกำมือของตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ประการที่สอง คือการฟื้นความสามารถในการพึ่งกันเอง หมายถึง เราไม่สามารถพึ่งตนเองได้หมดทุกอย่าง การพึ่งพากันเองก็ช่วยทำให้เราเป็นอิสระจากระบบบริโภคนิยมได้ ถ้าการพึ่งพาช่วยเหลือกันเป็นธรรมเนียมดั้งเดิมของไทยจนเกิดเป็นกลุ่มประเพณีมากมายหลายแบบ เช่น กลุ่มศรัทธา เป็นต้น
คุณภาพชีวิตคุณค่าทางจิตใจและความสุขอันเกิดจากการพึ่งตนเอง และการพึ่งกันเอง คือรางวัลที่ได้รับจากการเป็นอิสระจากระบบบริโภคนิยมถึงจะไม่สิ้นเชิงก็ตามที
เอกสารอ้างอิง
- กรรณิการ์ พรมเสาร์ ; บอยคอต , ฉลาดซื้อ ;มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ; 2544 : 42 : 50-52.
- ฉวีวรรณ ศรีโกมล ; อย.กับเศรษฐกิจพอเพียงอาหารและยา ; กองวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา; 2543 : 1: 42-43.
- ชนินทร์ เจริญพงศ์ ;ความปลอดภัยของอาหารและกระแสโลกาภิวัฒน์ของการค้าระหว่างประเทศ , อาหารและยา ; กองวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ; 2544 : 3:7-10.
- นิธิ เอียวศรีวงศ์ ;ฉลาดซื้อและฉลาดสร้างในเศรษฐกิจฝืดเคือง ฉลาดซื้อ ;มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ; 2540 : 21 :64-65.
- นิธิ เอียวศรีวงศ์ ;พลังผู้บริโภคด้านกระแสบริโภคนิยม , ฉลาดซื้อ ;มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ; 2541-2542 : 28 :45-47.
- ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ;การเมืองเรื่องประกันสุขภาพ , ฉลาดซื้อ ;มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ; 2544 : 42 :32.
- ประสงค์ อยู่สุขสำราญ ;ปัญหาสารเคมีปัญหาที่รุนแรงและเรื้อรัง , ฉลาดซื้อ ;มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ; 2541 : 27 :56-57.
- พิทักษ์ เกิดหอม ; สิทธิมนุษยชน-สิทธิผู้บริโภคสายธารแห่งการเปลี่ยนแปลง , ฉลาดซื้อ ;มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ; 2543 : 37 :20-21.
- พระไพศาล วิสาโล ; รางวัลแห่งอิสรภาพจากบริโภคนิยม,ฉลาดซื้อ ; มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ; 2542 : 31 :55-57.
- รายงานประจำปี 2540 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ; นโยบายเชิงปฏิบัติการตามแผน ฯ 8 ; 15-31.
- วัฒนา อัครเอกมาลิน ;ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพยุคใหม่ , อาหารและยา ;กองวิชาการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ; 2542 : 3:73-75.
- สมจิตร คงทน ; ผู้บริโภคคือตัวจริง , ฉลาดซื้อ ;มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ; 2543 : 65 :14.
- สาลี อ๋องสมหวัง ; ประท้วงร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ,ฉลาดซื้อ ; มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ; 2544 : 42 :14.
- อิฐบูรณ์ อ้นวงษา ;สื่อโฆษณาที่ผู้บริโภคพึงประสงค์ , ฉลาดซื้อ ;มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ; 2540 : 21 :11-12.
- อิฐบูรณ์ อ้นวงษา ; อินเตอร์เนตกับเด็กไทย ,ฉลาดซื้อ ; มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ; 2540 : 20 :10.
Relate topics
- รณรงค์เลิกใช้โฟม
- รายการสงขลามหาชน ตัวอย่างอาหารของแม่ ตอน " บทบาทของพ่อ " อาหารของแม่ สร้างความอบอุ่นของครอบครัวกับมื้ออร่อยที่แม่บรรจงปรุงเพื่อลูก
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู( http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู(7 เม.ย 5…: http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- รายการอาหารของแม่ ตอน " อาหารคือภาคีและพื้นที่ " เปิดอร่อยด้วย ยำบัวบก สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาถิ่น อบต.ท่าข้าม ของป้ายุพา ผลชนะ