การใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตที่ทันสมัยขึ้น การบริโภคแบบเดิม ๆ ที่หาดูได้ยาก และการปรับเปลี่ยนการบริโภคซึ่งแม้กระทั่งน้ำดื่มที่มาหล่อเลี้ยงชีวิต จากเดิมที่วิถีชีวิตคนไทยที่ดื่มน้ำจากบ่อดิน ก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ เป็นน้ำบาดาล น้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งก็เข้าใจว่าเป็นเพราะความสะดวก ความรู้สึกที่คิดไปเองว่าสะอาดปลอดภัยกว่ากัน
จนปัจจุบันพัฒนาเป็นน้ำดื่มแบบบรรจุขวด หรือสะดวกเข้าไปอีกก็เป็นน้ำดื่มแบบตู้หยอดเหรียญ ที่นำภาชนะไปกดเอา ซึ่งตกราคา ลิตรละ 1 บาท หลายคนเข้าใจว่าสะอาดอาจเพราะมั่นใจว่ากว่าจะเป็นตู้หยอดเหรียญน่าจะมีขั้นตอนการประกันคุณภาพแล้ว ปลอดภัยอย่างแน่นอนแต่หารู้ไม่ว่าความปลอดภัยที่คิดเอาเองนั้น อาจแฝงไปด้วยภัยอันตรายที่เรามองไม่เห็น หลายครั้งที่มีการถกกันถึงเรื่องของน้ำดื่ม แต่ก็ยังไม่มีการถกกันอย่างจริงจังอาจเป็นแค่ความระแวดระวังของผู้บริโภคที่พยายามหาทางออกเรื่องของน้ำดื่มที่ดีที่สุดสำหรับตัวผู้บริโภคเอง ที่คิดว่าจะบริโภคน้ำดื่มแบบไหนให้ปลอดภัย
จนกระทั่งมีการตรวจพบปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม อีโคไลน์ และสาหร่ายสีเขียว ของน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญ(จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) เป็นอันให้ถกกันถึงเรื่องของน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำดื่มแบบตู้หยอดเหรียญว่าใครเป็นผู้ดูแลเรื่องมาตรฐานความสะอาด ปลอดภัย แน่นอนน้ำดื่มบรรจุขวด (น้ำเพื่อการบริโภคในภาชนะที่ปิดสนิท) อยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงาน-คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ก็ยังมีน้ำดื่มบรรจุขวดบางรายที่ลักลอบผลิตโดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นั่นก็เป็นเพียงบางราย
ที่น่ากังวลก็คือน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญนี่สิ ! .ใคร หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญเป็นธุรกิจที่กำลังแข่งขันกันสูงมาก มีผู้ประกอบการหลายราย ซึ่งผลิตตู้กดน้ำภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ และจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการรายย่อยที่ซื้อตู้น้ำเหล่านี้มาจากบริษัทผู้ผลิต แต่ก็ยังไม่มีการรองรับว่าตู้น้ำแบรนด์ไหนบ้างที่ผ่านการตรวจสอบและผ่านมาตรฐานในขณะที่ผู้ผลิตภายใต้แบรนด์ต่าง ๆออกมาขอให้ภาครัฐเข้ามาตรวจสอบและรองรับว่าตู้ใดผ่านมาตรฐาน ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เพื่อการแข่งขันกันทางการตลาด
ซึ่งตู้น้ำหยอดเหรียญที่จำหน่ายให้กับผู้ประกอบการแต่ละรายที่มีวางกันอยู่เกลื่อนเมืองนั้น บางบริษัทมีทีมงานดูแลเครื่องหลังการขายให้กับผู้ประกอบการ เป็นที่ทราบกันในกลุ่มผู้ประกอบการดีว่าสิ่งที่จะทำให้คุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลงคือ การดูแลรักษาตู้ หากตู้น้ำหยอดเหรียญเครื่องใดถูกละเลย น้ำที่ได้จะอันตรายกว่าน้ำประปาเสียอีก ก็เป็นเรื่องที่ถกกันอยู่ว่าใครจะเป็นผู้ดูแล รับผิดชอบ ดูแลตู้ ระหว่างผู้จำหน่ายหรือผู้ประกอบการที่ซื้อตู้มา ในส่วนของผู้จำหน่ายออกมาบอกว่า การดูแลของทีมงานเป็นเพียงการดูแลหลังการขายเท่านั้น ซึ่งก็จะดูแลเรื่องของอุปกรณ์ อะไหล่ชำรุด การเปลี่ยนไส้กรองในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งหากเกิดปัญหาผู้ประกอบการต้องแจ้งให้ทีมงานไปทำการซ่อมแซมบำรุงและ ตรวจสอบ เปลี่ยนไส้กรอง เพราะหากเครื่องเกิดปัญหา หรือไม่เปลี่ยนไส้กรองตามกำหนดเวลา ก็จะมีผลต่อคุณภาพน้ำที่ออกมา
ส่วนเรื่องคุณภาพน้ำเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของผู้ที่ซื้อตู้ไปวางในแต่ละพื้นที่ ที่จะต้องดูแลเรื่องของความสะอาด และการเปลี่ยนอุปกรณ์ตามกำหนดเวลา แต่เราซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำดื่มจากตู้นี้ล่ะ!! จะรู้หรือไม่ว่าผู้ประกอบการคนใดดูแลบำรุงรักษาตู้ดีแค่ไหน ผู้จำหน่ายใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมเพียงใด ผู้บริโภคคงจะทำอะไรได้ไม่มาก นอกจากจะมีวิธีการตรวจสอบเอาเองว่าตู้ไหนได้รับการดูแลดีหรือไม่ โดยการสังเกตดูตรงท่อปล่อยน้ำว่ามีตะไคร่น้ำขึ้นหรือไม่ ฝาตู้ที่อยู่ในสภาพดี ปิดสนิทเพื่อป้องกันแมลงและฝุ่นละออง ฐานวางที่ไม่มีตะไคร่น้ำมาจับ และการวางตู้ในที่ถูกสุขลักษณะ เช่นไม่วางใกล้ถังขยะ แต่ในส่วนเรื่องของคุณภาพน้ำ มาตรฐานตู้คงต้องฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลตรวจสอบ แล้วหน่วยงานไหนบ้างที่ต้องเข้ามาดูแล คงต้องฝากให้ผู้บริโภคนำไปขบคิด เรียกร้องหาทางออกกันเองอีกแล้ว
อ้างอิงบทความจาก ฐานเศรษกิจ 5 ต.ค.50 , เวปไซด์กรุงเทพธุรกิจ 26 ก.ย.50
โดย.. อัญชิษฐา พรหมอินทร์ โครงการบริโภคเพื่อชีวิต สงขลา
Relate topics
- รณรงค์เลิกใช้โฟม
- รายการสงขลามหาชน ตัวอย่างอาหารของแม่ ตอน " บทบาทของพ่อ " อาหารของแม่ สร้างความอบอุ่นของครอบครัวกับมื้ออร่อยที่แม่บรรจงปรุงเพื่อลูก
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู( http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู(7 เม.ย 5…: http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- รายการอาหารของแม่ ตอน " อาหารคือภาคีและพื้นที่ " เปิดอร่อยด้วย ยำบัวบก สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาถิ่น อบต.ท่าข้าม ของป้ายุพา ผลชนะ