บทความ

ภาชนะเคลือบเทฟลอน อันตรายหรือไม่

by twoseadj @June,13 2009 19.18 ( IP : 222...16 ) | Tags : บทความ , เทฟลอน
photo  , 400x300 pixel , 26,873 bytes.

เทฟลอน (Teflon) เป็นชื่อทางการค้าของสารโพลิเตตระฟลูออโรเอทิลีน (Polytetrafluoroethylene - PTFE) มีคุณสมบัติเด่นคือเป็นสารที่มีความลื่นมาก เมื่อเทฟลอนมีความลื่นมาก ผู้ผลิตจึงใช้สารนี้เป็นส่วนผสมหรือเคลือบลงบนผลิตภัณฑ์หลายประเภท โดยเฉพาะใช้เคลือบพื้นผิวภาชนะเครื่องครัวต่างๆ ทำให้หมดปัญหาเรื่องอาหารติดภาชนะเวลาทอด ช่วยลดปริมาณไขมันในการประกอบอาหารลงได้ และยังทำความสะอาดได้ง่ายอีกด้วย
      คุณสมบัติเด่นอีกอย่างหนึ่งของเทฟลอน คือ มีความเฉื่อยต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมีกับสารอื่น ดังนั้น จึงไม่ทำให้เกิดอันตรายกับอาหารที่ปรุงจากภาชนะเคลือบเทฟลอน นอกจากนี้ยังทนต่อกรดและด่าง ทนอุณหภูมิทั้งสูงและต่ำมากๆ ได้ดี มีจุดหลอมเหลวอยู่ที่ 327 องศาเซลเซียส และไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้าอีกด้วย
      การใช้ภาชนะเทฟลอนให้ถูกวิธี ควรใช้ตะหลิวหรือทัพพีที่เป็นไม้หรือพลาสติกกับภาชนะที่เคลือบเทฟลอน การใช้ตะหลิวหรือทัพพีที่ทำจากโลหะที่มีความคมหรือมีขอบไม่เรียบ จะทำให้เกิดรอยขูดขีด ซึ่งทำให้เทฟลอนหลุดลอกได้ หรือการใช้ฝอยขัดทำความสะอาด แม้กระทั่งการเทน้ำราดลงไปที่ภาชนะเคลือบทันทีขณะที่ยังร้อนอยู่ ก็สามารถลดอายุการใช้งานของเทฟลอนได้เช่นกัน
      สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ภาชนะที่เคลือบเทฟลอน เมื่อใช้งานไปนานๆ ผ่านการล้างขัดถูมากๆ อาจมีอนุภาคบางส่วนลอกหลุดออกมาปะปนกับอาหารได้ อย่างไรก็ตาม อนุภาคเหล่านั้นจะผ่านออกจากร่างกายโดยไม่ถูกย่อยและดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต แต่จะถูกขับถ่ายออกมา โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
      อันตรายของเทฟลอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ก็คือ การใช้ในอุณหภูมิสูงมากๆ อาจทำให้เกิดควันที่ไม่พึงประสงค์ แต่ยังไม่มีการพิสูจน์แน่ชัดว่าควันที่เกิดขึ้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์หรือไม่
      จากการวิจัยพบว่า เมื่อเผาภาชนะเปล่าที่เคลือบด้วยเทฟลอน จนอุณหภูมิสูงเกินกว่า 400 องศาเซลเซียส อนุภาคของสารเทฟลอนจะกลายเป็นไอและหลุดออกมาสู่บรรยากาศ ซึ่งไอของมันสามารถทำให้เกิดอาการคล้ายกับอาการไข้จากหวัด (Polymer fume fever) แต่ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นหากใช้ภาชนะเคลือบเทฟลอนในช่วงอุณหภูมิใช้ปกติ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย จึงควรใช้ภาชนะเหล่านี้ที่ความร้อนระดับต่ำจนถึงปานกลางเท่านั้น

แม้ว่าตัวเทฟลอนเองจะค่อนข้างใช้ได้อย่างปลอดภัย แต่เมื่อนำไปผ่านกระบวนการในการเคลือบเทฟลอน กลับทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นว่า เทฟลอนนั้นเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่
      องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (United State Environmental Protection Agency - US EPA) พบว่าในกระบวนการเคลือบสารเทฟลอนในวัสดุใดๆ จะก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง ที่มีชื่อว่า เพอร์ฟลูออโรออคตาโนอิค แอซิด (Perfluorooctanoic Acid – PFOA)
      PFOA สลายตัวได้ยาก เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน การกำจัดสารนี้ออกจากร่างกายราว 95-99% จะต้องใช้เวลาราว 20 ปี โดยต้องไม่รับสารตัวนี้เข้าร่างกายอีก
      การที่สารนี้สลายตัวได้ยาก จึงตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และผลการตรวจเลือดในกลุ่มอาสาสมัครชาวอเมริกันจำนวนหนึ่ง พบว่าทุกคนมีสารก่อมะเร็งตัวนี้ปนเปื้อนอยู่ในกระแสเลือด แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งยังไม่ทราบว่าสารนี้เข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างไร
      อย่างไรก็ตาม บริษัทดูปองท์ซึ่งเป็นผู้ผลิตเทฟลอน ระบุว่าสาร PFOA ถูกใช้เฉพาะขณะอยู่ในกระบวนการผลิตเท่านั้น ไม่มีสารนี้อยู่ในเครื่องครัวเทฟลอนหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ และจากผลการทดลองของบริษัทไม่พบว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์แต่อย่างใด
      ในขณะที่ผลการศึกษาพิษของสาร PFOA ในสัตว์ทดลอง พบว่าเป็นสารก่อมะเร็งและทำลายภูมิคุ้มกันโรค แต่ผลที่ได้ยังไม่ชี้ชัดว่า PFOA มีอันตรายต่อคน และความเสี่ยงที่จะเกิดกับมนุษย์นั้นยังมีความเป็นไปได้น้อย
      อย่างไรก็ตาม บริษัท ดูปองท์ และบริษัทที่ขายสารเคมีกลุ่มเทฟลอนอีกหลายแห่ง ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับ US EPA เพื่อช่วยกันลดสารพิษนี้จากภาชนะและวัสดุที่ผ่านการเคลือบเทฟลอน โดยจะพัฒนาเทคโนโลยีการเคลือบภาชนะที่ไม่ทำให้มีสารเคมีใดๆ เหลือตกค้างอยู่หรือสลายตัวออกมาขณะที่มีการปรุงอาหารได้อีก โดยมีเป้าหมายจะลดสารพิษเหล่านี้จากผลิตภัณฑ์ให้ได้ร้อยละ 95 ภายในปี พ.ศ.2553 และคาดหวังว่าผลิตภัณฑ์จะปลอดสารพิษอย่างแท้จริงในปี พ.ศ.2558

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง